วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กองทุนสัจจะ

ชื่อประเภทโครงการ : กองทุนสัจจะสะสมทรัพย์
ชื่อองค์กร : เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนเมืองอรัญประเทศ
งบประมาณ : บาท

ประวัติและที่มาของโครงการ
จากวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 กลุ่มชุมชนบริเวณด่าน อำเภออรัญประเทศ ได้มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยตามนโยบายโครงการบ้านมั่นคง ได้จัดการออมเป็นสามรูปแบบคือ ออมสัจจะสะสมทรัพย์, ออมสวัสดิการ, และออมเพื่อที่อยู่อาศัย โดยมีสมาชิกแรกตั้ง 124 คน และมีการออมเรื่อยมาจนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 มีสมาชิกในปัจจุบันประมาณ 84 คน ยอดเงินออมทั้งหมดประมาณ 300,000 บาท ในระหว่างมีการออมเพื่อที่อยู่อาศัย จุดประสงค์ของการออมและการเข้าร่วมของสมาชิกแต่เดิมมุ่งเน้นในเรื่องของประโยชน์เรื่องที่ดินเพียงอย่างเดียว เดือนกันยายน 2548 กลุ่มออมทรัพย์หน้าโรงไฟฟ้าก็ถูกจัดตั้งขึ้นโดยจุดประสงค์อย่างเดียวกันคือเรื่องที่ดินรถไฟ จากนั้นขยายผลมาที่ชุมชนตลาด และมิตรสัมพันธ์ ซึ่งแต่แรกทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนได้มีการวางพื้นฐานที่ชุมชนบริเวณด่านที่เดียว ดังนั้นการถ่ายทอดความรู้ที่ได้อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าเจ้าหน้าที่นัก ทำให้ลักษณะการออมของแต่ละชุมชนแตกต่างกันไป วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2548 ชุมชนทั้งสี่แห่งได้ร่วมกันจัดตั้งสหกรณ์ ชื่อ สหกรณ์เคหสถานชุมชนเมืองอรัญประเทศ จำกัด ได้มีการวางระบบบริหาร การจัดการองค์กรแบบกระจายความรับผิดชอบจากฐานราก ระดับสมาชิกซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของการออมทรัพย์และการจัดตั้งสหกรณ์ โดยแบ่งหน้าที่เป็นระดับกลุ่มย่อย 5 คน กลุ่มย่อย 5 – 6 กลุ่ม มารวมกันเป็นระดับคุ้ม (Zone) ในพื้นที่เดียวกันซึ่งง่ายต่อการพัฒนาโครงการ ทั้งทางด้านสาธารณูปโภค ทางด้านการประชาสัมพันธ์และด้านอื่นๆ ซึ่งถือเป็นก้าวใหม่ของการพัฒนาชุมชนเมือง นับแต่ เดือนตุลาคม พ.ศ.2547 ซึ่งโครงการบ้านมั่นคงได้ลงมาที่อำเภออรัญประเทศ ส่งผลให้เกิดการผลักดันและพัฒนาโครงการให้ก้าวไปข้างหน้า และจากคุ้ม ประมาณ 4 – 5 คุ้ม ก็มารวมเป็นชุมชน หรือสาขาย่อยของสหกรณ์ ซึ่งการจัดระบบสหกรณ์และการรับสมาชิกก็เป็นไปได้ด้วยดี แต่ติดปัญหาที่ระบบการเงินทั้งด้านสัจจะ สวัสดิการ และ ที่อยู่อาศัย ยังไม่มีความชัดเจน และบางชุมชนเช่น ชุมชนหน้าโรงไฟฟ้า ยังไม่มีฐานคิดในการจัดเรื่องของสวัสดิการ เนื่องจากความเข้าใจของชาวชุมชนยังไม่ดีนัก จนกระทั่งวันที่ 20 -21 ธันวาคม พ.ศ.2548 ได้มีเจ้าหน้าที่ได้มาจัดระบบเรื่องของการเงินอีกครั้งทำให้ทิศทางการเคลื่อนไหวทางการเงินเริ่มเป็นที่สอดคล้องกัน และเห็นพ้องต้องกันในบางพื้นที่ให้มีการจัดระบบและระเบียบในการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ให้สอดคล้องกัน ซึ่งทางสมาชิกเล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดระบบเพื่อให้สอดคล้องกันกับสหกรณ์ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่และจากข้อมูลที่ได้จากสื่อต่างๆทั้งสื่อการพิมพ์ สื่อทางอิเลคโทรนิกส์ ข้าพเจ้าจึงนำมาใช้เขียนเป็นโครงการและนำเสนอกับทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และ ทางสถาบันการเงินอื่นๆ รวมทั้งหน่วยงานภาคี เพื่อหาข้อบกพร่องและปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมเพื่อเป็นประโยชน์ในการบริหารการจัดการเงินกองทุนเพื่อสามารถให้ใช้ประโยชน์และแก้ไขปัญหาได้จริง


ดังนั้นจึงเสนอให้มีการรวมกลุ่มออมทรัพย์ทั้งสามกลุ่มเข้าด้วยกันและจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนออกเป็นสามกองทุนคือ กองทุนสัจจะสะสมทรัพย์ กองทุนสวัสดิการชาวบ้าน และ กองทุนสมทบเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อง่ายต่อการจัดทำบัญชีและตรวจสอบทางการเงิน อีกทั้งเป็นการฝึกให้ชาวชุมชนแต่ละชุมชนมีการทำงานร่วมกันและแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน

สาเหตุการจัดตั้งกองทุนเงินสัจจะสะสมทรัพย์- ฝึกเรื่องการบริหารการเงินให้กับชาวชุมชน ในระดับย่อย ก่อนที่จะมีการกู้ยืมเงินก้อนที่ใหญ่ซึ่งทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนต้องการดูเรื่องการบริหารการเงินของชาวบ้านก่อนจะตัดสินใจเพื่อปล่อยกู้เพื่อที่อยู่อาศัยต่อไป
- ขจัดการทับซ้อนของการฝากออมทรัพย์ โดยสมาชิกต้องถือสมุดฝากของชุมชนต่างๆที่ตนเป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งไม่ถูกต้อง และเป็นการเพิ่มภาระให้สมาชิก และผิดวัตถุประสงค์ เพราะเรื่องที่ดินเป็นเรื่องของสหกรณ์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของออมทรัพย์แต่อย่างใด
- เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบให้กับสมาชิก
- เพื่อขจัดปัญหาการสร้างหนี้ทั้งนอกระบบของสมาชิกโดยอาศัยการตรวจสอบโดยชุมชน
- เพื่อให้สมาชิกมีกองทุนเพื่อไปประกอบอาชีพใหม่ๆเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว

โครงสร้างการบริหารกองทุน จะแบ่งเป็น
1. ประธานกองทุนสัจจะ
2. ที่ปรึกษากองทุน
3. เลขานุการ
4. กรรมการตรวจสอบบัญชี
5. เหรัญญิก
6. กรรมการกองทุนชุมชนต่างๆ
7. กรรมการคุ้ม และ กลุ่มย่อย
วัตถุประสงค์การจัดตั้ง
 ให้สมาชิกมีเงินหมุนเวียนกันเองภายในชุมชน
 เพื่อให้เกิดพื้นที่ในการนำความรู้เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยชุมชนไปใช้เพื่อดำเนินการให้สำเร็จในทั้งพื้นที่และขยายผลไปยังพื้นที่ข้างเคียง
 เพื่อให้เกิดเครือข่ายชุมชนแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยชุมชน
 ให้สมาชิกรู้จักบริหารและจัดการเงินกองทุนเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกและกลุ่ม
 ลดการสร้างหนี้ให้กับสมาชิก
 ให้สมาชิกมีแหล่งเงินกู้หมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ
 เพื่อให้เกิดภาคีความร่วมมือในด้านการจัดการความรู้และภาคีการสนับสนุนการพัฒนาขบวนการท้องถิ่น
 เพื่อให้สมาชิกรู้จักเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน



ที่มาของเงินกองทุน
มีความเชื่อว่าคณะกรรมการหลายท่านเป็นกังวลในเรื่องของเงินกองทุน หากสมาชิกเป็นผู้กู้ ความต้องการในการกู้ของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน ทำให้เกิดเป็นที่วิตกกับกรรมการได้ว่าจะดึงเงินของชุมชนนี้ชุมชนนั้นไปใช้ การรวมกันเป็นเครือข่ายองค์กรการเงินนั้น เงินของสมาชิกไม่ได้สูญหายไปไหนหรือไม่ได้หยิบยืมจากใครแต่จะหมุนเวียนอยู่ภายในคุ้มนั้นๆ โดยกรรมการออมทรัพย์จะต้องสำรวจและหาข้อมูลยอดเงินของแต่ละคุ้มว่ามียอดเงินเท่าไหร่ ? ซึ่งแต่ละคุ้มจะขอกู้ได้เท่ากับยอดเงินของแต่ละคุ้มเท่านั้น ในเบื้องต้นยังไม่มีการกู้ยืมข้ามคุ้มกัน ส่วนการบริหารจัดการการกู้มากกู้น้อยแล้วแต่คุ้มนั้นๆจะไปบริหารจัดการโดยใช้ฐานความคิดร่วมกันว่าสมาชิกกู้ได้ไม่เกินเท่าไหร่ ? คุ้มสามารถปล่อยกู้ได้กี่ราย และแต่ละรายที่ปล่อยกู้นั้น จะต้องมีการส่งคืนกองทุนของคุ้มนั้นๆภายในระยะเวลาเท่าไหร่ ให้สมาชิกแต่ละคุ้มทำข้อตกลงร่วมกันโดยยึดระเบียบออมทรัพย์และ ระเบียบสหกรณ์เป็นหลัก
ทั้งนี้เงินกู้ยืมกองทุนสัจจะกำหนดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 2% ต่อเดือน หรือ ร้อยละ 24% ต่อปี แต่ตามที่กฎหมายกำหนด คือร้อยละ 15% ต่อปี ดังนั้นการจัดสรรอัตราดอกเบี้ยจึงถูกกำหนดออกมาดังนี้คือ
- ถ้าดอกเบี้ยร้อยละ 2 ให้เป็นค่าบำรุงกองทุนของคุ้มนั้นๆ 1% , เป็นเงินฝากออมทรัพย์ให้กับสมาชิกที่กู้ยืม 1%
ดังนั้นการจัดสรรเงินกู้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงคือ 12% ต่อปี เท่ากับ ร้อยละ 1 บาทต่อเดือนดังนั้นจึงไม่ขัดกับหลักกฎหมาย อีก 12% ต่อปีจะถูกจัดสรรให้เป็นเงินปันผลให้กับสมาชิกผู้กู้ เพื่อเป็นการฝึกให้สมาชิกรู้จักออมดังนั้นกองทุนนี้จึงเป็นกองทุนที่ให้สมาชิกกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เพียงแต่การส่งยอดเงินจะมีกำหนดเวลาเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องของกองทุนซึ่งสมาชิกจะต้องทราบข้อเสนอของกองทุนก่อนกู้ทุกครั้ง ว่ากู้เท่าไหร่จะต้องส่งภายในระยะเวลาเท่าใด กำหนดสัญญาการค้ำประกัน กี่เดือน โดยกำหนดสัญญาระยะการกู้ยืมดังนี้คือ
- เงินกู้ยืม 1,000 – 3,000 บาท ระยะเวลาส่งไม่เกิน 3 เดือน
- เงินกู้ยืม 4,000 – 6,000 บาท ระยะเวลาส่งไม่เกิน 6 เดือน
- เงินกู้ยืม 7,000 – 9,000 บาท ระยะเวลาส่งไม่เกิน 8 เดือน
- เงินกู้ยืม 10,000 – 15,000 บาท ระยะเวลาส่งไม่เกิน 10 เดือน

***ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน ร้อยละ 1 จะถือเป็นค่าบำรุงกองทุน อีก 1 % ถือเป็นเงินฝากสมาชิกทั้งนี้ค่าบำรุงกองทุนถือเป็นผลกำไรในการดำเนินการของคุ้ม คุ้มสามารถนำกำไรมาจัดสรรให้สมาชิกคนอื่นกู้ได้ต่อไป

บริหารกองทุนสัจจะสะสมทรัพย์กันอย่างไร?
จะจัดให้มีการบริหารกองทุนสัจจะสะสมทรัพย์ออกเป็นสามระดับคือ
1. การบริหารเงินกองทุนระดับชุมชน หรือสาขาย่อย : สาขาย่อยมีหน้าที่รับและเบิกจ่ายเงินของกองทุนกับธนาคารจะเป็นตัวประสานระหว่าง คุ้ม และ ธนาคาร โดยตรง คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์สาขามีหน้าที่ในการตรวจดูยอดเงินของสมาชิกคุ้มแต่ละคุ้มดูแลรายรับและรายจ่ายในภาพรวม ไม่ต้องลงรายละเอียดเป็นรายบุคคล การรับเงินจากคุ้มสาขาย่อยมีหน้าที่ในการออกใบเสร็จรับเงินเมื่อแต่ละคุ้มรวบรวมมาให้คุ้มละ 1 ใบ / เดือน เท่านั้น นอกจากนี้คณะกรรมการสาขาต้องรับแผนธุรกิจที่ผ่านการกรองของคณะกรรมการเงินกู้ของแต่ละคุ้มนั้นๆมาพิจารณาก่อน ก่อนที่จะถอนเงินสะสมและส่งให้กับคณะกรรมการเงินกู้ของแต่ละคุ้ม หากพบข้อผิดพลาดเช่น นาย ก. จากคุ้ม อารียา ขอกู้เงินเพื่อไปซื้อหม้อก๋วยเตี๋ยว จำนวน 7,000บาท แต่ราคาหม้อก๋วยเตี๋ยวตามท้องตลาด ใบละ 2, 500บาททางคณะกรรมการสาขาสามารถระงับการถอนและมอบหมายให้กรรมการคุ้มพิจารณาใหม่ หรือ นาย ข. จากคุ้มอัญมณี ขอกู้เงิน 5,000 บาท ขอผ่อนชำระ 12 เดือนหรือ 365 วัน หากกรรมการสาขาเห็นว่าไม่เหมาะสมเนื่องจากจะทำให้เกิดผลกระทบกับกองทุนให้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการเงินกู้ของคุ้มอัญมณีไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยคณะกรรมการคุ้มจะต้องตกลงกับผู้กู้ว่าจะลดระยะเวลาการส่งได้หรือไม่เพื่อความเหมาะสมเป็นต้น

สรุปบทบาทการบริหาร/ หน้าที่
• เป็นกลไกกลางในการประสานกับภายนอก / สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, ธนาคาร, หน่วยองค์กรการเงินอื่นๆ
• ช่วยในการเจรจาต่อรองหนี้ เช่นปลดหนี้นอกระบบ, ลดหนี้การเคหะ, ฯลฯ
• วางแผนเสริมหนุนการบริหารคุ้ม เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้สิน, การสร้างอาชีพ, การรวมกลุ่มเพื่อประกอบอาชีพ
• การบริหารการจัดการกองทุนระดับชุมชนมีโครงสร้างและระบบที่ซับซ้อนมาก จึงต้องมีระบบบัญชี และระบบเอกสารที่ดี มีการปรับข้อมูลตัวเลขให้เป็นสถานะปัจจุบันอยู่เสมอ เปิดเผยและโปร่งใส
• มีการตรวจสอบติดตามผลการดำเนินงานของคุ้ม (Zone) ในการบริหาร

เทคนิคในการบริหาร
• กระจายงานให้แต่ละคุ้มเพื่อให้ทุกคนได้มีบทบาทและความสามารถในการบริหารจัดการเงินของตนเอง
• เลือกคนให้เหมาะกับงานและเลือกคนที่มีเวลาทำงานด้วย
• ควรมีผู้นำที่สามารถเข้าร่วมประชุม/ติดตามผลและทำกิจกรรมร่วมกับทางโครงการเพื่อสามารถนำประโยชน์ที่ได้กลับมาบริหารต่อไป

ข้อสังเกตในการบริหารแบบเดิมๆ
• ยึดติดตัวบุคคล/ คณะกรรมการ หน้าเดิมๆ
• การกระจาย/บทบาท การมีส่วนร่วมจากสมาชิกมีน้อย, การตัดสินใจอยู่ที่คณะกรรมการ
• แนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนไม่ได้มาจากฐานล่าง
• กระบวนการสรรหากรรมการส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกทั้งหมด
• การแก้ไขปัญหาของชุมชนไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ การชำระคืนมีน้อย, ผิดนัดชำระหนี้มีมาก
2. การบริหารกองทุนระดับคุ้ม : ถือว่าเป็นหัวใจในการบริหารการจัดการกองทุนเพราะเรื่องคุ้มจะเป็นตัวกลางระหว่างกลุ่มย่อยกับกองทุนสัจจะสะสมทรัพย์ทั้งนี้ทางคุ้มต้องบริหารจัดการทั้งกลุ่มย่อยและเงินของสมาชิก โดยเงินทั้งหมดของสมาชิกจะไม่ใช้ในการปล่อยกู้ทั้งหมด โดยจะต้องแบ่งเป็นสามส่วนดังนี้คือ
- ให้กู้เพื่อแก้หนี้ 40 %
- ให้กู้เพื่อสร้างอาชีพให้แก่สมาชิก และจะต้องเป็นอาชีพที่สุจริตเท่านั้น 40 %
- เงินสำรองจ่าย 20 % เพื่อเป็นเงินที่ใช้ในการบริหารจัดการเรื่องแก้หนี้ เรื่องสร้างอาชีพ และเรื่องอื่นๆภายในกลุ่มหรือคุ้มนั้นๆ และต้องเป็นเงินสำรองฉุกเฉินเพื่อป้องกันการผิดนัดหนี้จากสมาชิกเป็นเงินหมุนเวียนขณะรอดำเนินการ

เงินกองทุนของคุ้มมาจากไหน?
ป็นเงินของสมาชิกกลุ่มย่อยทั้งหมดภายในคุ้ม หัวหน้าคุ้มต้องสำรวจยอดรวมทั้งหมดของคุ้ม และนำมาแบ่งเป็นส่วนๆ เช่น คุ้ม จิตต์สุวรรณ มียอดเงินสะสมของสมาชิกคุ้ม 100,000 บาท ให้แบ่งเป็นส่วนคือ เงินที่ให้สมาชิกกู้เพื่อแก้หนี้ 40,000บาท, เงินให้สมาชิกกู้เพื่อประกอบอาชีพ 40,000บาท และเงินสำรองจ่าย 20,000บาท คณะกรรมการคุ้มให้พิจารณาให้สมาชิกกู้ตามความเหมาะสม โดยการแก้หนี้ให้พิจารณาแก้ปัญหาให้กับคนที่มีหนี้น้อยก่อนเป็นลำดับแรก และต้องทำความเข้าใจและร้องขอไม่ให้สมาชิกก่อหนี้สินเพิ่มเติม สมาชิกควรมีแผนการส่งคืนที่ชัดเจน และควรมีระยะเวลาที่พอเหมาะพอควรเนื่องจากหากมีระยะเวลานานเกินไป จะส่งผลเสียแก่กลุ่มหรือคุ้มนั้นๆ รวมทั้งสมาชิกผู้ซึ่งประสงค์จะกู้อื่นๆ สิ่งที่จำเป็นที่สุดที่สมาชิกพึงมีในการกู้ คือ “ความซื่อสัตย์” เพราะหากสมาชิกขาดคุณสมบัตินี้แล้ว คุ้มอาจะเกิดภาวะล้มละลาย การแก้หนี้ของสมาชิกจะกลายเป็นภาวะหนี้เสียกับกลุ่มแทน ดังนั้นคณะกรรมการคุ้มควรพิจารณาให้ดีก่อนเสนอกู้กับสาขาต่อไป
เมื่อมีการกู้คณะกรรมการคุ้มต้องแต่งตั้ง “คณะกรรมการเงินกู้” ภายในคุ้มนั้นๆโดยตัวแทนของแต่ละกลุ่มย่อยต้องส่งตัวแทนมาเพื่อร่วมพิจารณาเงินกู้ของสมาชิก โดยประธานคุ้มเป็นประธานคณะกรรมการเงินกู้ เลขานุการเป็นเลขานุการคณะกรรมการเงินกู้ หัวหน้ากลุ่มให้ถือเป็นคณะกรรมการเงินกู้ทั้งหมดข้อวินิจฉัยทั้งปวงของคณะกรรมการเงินกู้ให้นำเสนอคณะกรรมการสาขาทราบในที่ประชุมสาขาอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการเงินกู้ ให้ถือตามข้อบังคับของ “สหกรณ์เคหสถานชุมชนเมืองอรัญประเทศ จำกัด” ข้อที่ 88 เป็นหลัก โดยคณะกรรมการเงินกู้จะมีหน้าที่ดังนี้คือ
ให้คณะกรรมการเงินกู้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยอนุมัติการให้เงินกู้แก่สมาชิกตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์และกลุ่มออมทรัพย์รวมทั้งข้อต่อไปนี้
(1) ตรวจสอบการใช้เงินกู้ของสมาชิกให้เป็นไปตามความมุ่งหมายที่ให้เงินกู้นั้น
(2) ตรวจสอบการควบคุมให้เงินกู้มีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์และ กลุ่มออมทรัพย์ที่คณะกรรมการดำเนินการและคณะกรรมการอำนวยการของสหกรณ์และกลุ่มออมทรัพย์ร่วมกันร่างไว้ และเมื่อเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดเกิดบกพร่องก็ต้องกำหนดให้ผู้กู้จัดการแก้ไขให้ดีภายในระยะเวลาที่กำหนด
(3) ดูแลและติดตามการชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญา
(4) สอบสวนเบื้องต้นให้ได้ข้อความจริง ในกรณีสมาชิกผู้กู้ขอผ่อนเวลาการส่งเงินงวดชำระหนี้เงินกู้หรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ เพื่อเสนอความเห็นให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณา ผ่อนผัน หรือเรียกคืนเงินกู้ หรือสอบสวนลงโทษให้สมาชิกออกจากกองทุนสัจจะออมทรัพย์
สรุปบทบาทการบริหาร/ หน้าที่
• เป็นกลไกกลางในการประสานกับชุมชน กับชาวบ้าน
• ช่วยในการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับสมาชิกเรื่องของความจำเป็นในการกู้ยืม
• วางแผนเสริมหนุนกลุ่มย่อย และสมาชิก เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้สิน
• การบริหารการจัดการกองทุนระดับคุ้ม(Zone)มีโครงสร้างและระบบที่ซับซ้อนน้อยกว่าชุมชน แต่จะต้องมีระบบบัญชี และระบบเอกสารที่ดี มีการปรับข้อมูลตัวเลขให้เป็นสถานะปัจจุบันอยู่เสมอ เปิดเผยและโปร่งใส รวมทั้งทำข้อมูลสมาชิกในแต่ละคุ้ม
• มีการตรวจสอบติดตามผลการดำเนินงานของสมาชิกกลุ่มย่อย

3. การบริหารกองทุนระดับครัวเรือน : หนึ่งกลุ่มครัวเรือนจะมีสมาชิก 4-5 คนแล้วแต่กรณี ในแต่ละกลุ่มย่อยหรือกลุ่มครัวเรือนจะต้องประกอบไปด้วยหัวหน้ากลุ่ม เลขานุการกลุ่ม และ เหรัญญิกกลุ่ม เพื่อแบ่งหน้าที่กันบริหาร โดยเลขานุการกลุ่มอาจจะทำหน้าที่คอยจดบันทึกการประชุม เหรัญญิกกลุ่มทำหน้าที่ในการเก็บและรวบรวมเงินของสมาชิก ส่งเข้าที่คุ้ม หัวหน้ากลุ่มมีหน้าที่ในการประชุม และเป็นคณะกรรมการเงินกู้ของคุ้ม พิจารณาความเดือดร้อนและความต้องการกู้แก่สมาชิก รวมถึงประชาสัมพันธ์ความรู้หรือข่าวสารที่ไปประชุมมา หรือหัวหน้ากลุ่มหรือคุ้มอาจจะมีประชาสัมพันธ์ประจำกลุ่มก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม เพื่อให้เข้าข่ายแบ่งงานกันทำ ร่วมคิดร่วมทำในกลุ่ม “กลุ่มย่อยควรวางกฎและกติกากันเองและควรปฏิบัติตามกฎของกลุ่มย่อยอย่างเคร่งครัด” ซึ่งแต่ละกลุ่มอาจจะมีกฎหรือระเบียบแตกต่างกันไปก็ได้แต่ต้องไม่ขัดกับระเบียบออมทรัพย์ เช่น กำหนดวงเงินกู้ยืม ระยะเวลาการคืน อัตราดอกเบี้ยเป็นต้น“ต้องหัดหมุนเงินพันของตนเองก่อน จึงจะหมุนเงินนอกเป็นล้านได้...หลักการคือไม่ได้ดูที่ความสามารถในการออม แต่ให้ดูที่ความสามารถในการชำระหนี้”
สรุปบทบาทการบริหาร/ หน้าที่
• การดูแล/ติดตามสมาชิก ให้ออมอย่างสม่ำเสมอและไม่สร้างหนี้เพิ่ม
• มีความเอื้ออาทรต่อกัน/ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
• พิจารณากลั่นกรองผู้รับประโยชน์ร่วมกัน เมื่อสมาชิกกลุ่มต้องการกู้ยืมเงินจะต้องดูความเดือดร้อนและความจำเป็นและต้องดูลำดับก่อนหลังและความสามารถในการชำระคืนโดยใช้ข้อมูลที่เคยสำรวจและบัญชีครอบครัวมาพิจารณา***บางกลุ่มอาจจะมีการพิจารณาที่เข้มงวดมากจนทำให้เกิดการขัดแย้งกันซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และพัฒนากลุ่มต่อไป
• การบริหารการจัดการทุนภายในกลุ่มมีกองทุนหมุนเวียนให้กู้ยืมรายวันและให้กู้ยืมฉุกเฉินถ้ากลุ่มย่อยมีการบริหารการจัดการที่ดีมีดอกผลหรือกำไรมากขึ้นก็มีสิทธิ์ที่กลุ่มออมทรัพย์ใหญ่จะหาแหล่งทุนเพื่อให้สมาชิกกู้ยืมในจำนวนที่มากขึ้นด้วย
• การสำรวจข้อมูลหนี้สินครัวเรือน/ บัญชีครอบครัวจะเป็นการตรวจสอบในระดับฐานรากให้เห็นถึงสภาพปัญหาการแก้ไขรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงความก้าวหน้าของสมาชิก
• การแจ้งข้อมูลและข่าวสารถึงกัน หัวหน้ากลุ่มหรือตัวแทนกลุ่มที่เข้าร่วมประชุมจะต้องมีการจดบันทึกการประชุมและนำข้อมูลไปแจ้งให้กับสมาชิกในกลุ่มทราบ

ข้อดีของการบริหารกลุ่มย่อย
• กระจายบทบาทหน้าที่กันทำงานอย่างชัดเจน
• เกิดการกระจายข่าวสารระหว่างสมาชิกกับสมาชิกและสมาชิกกับกรรมการ
• เกิดผู้นำคนรุ่นใหม่จากกลุ่มย่อยมาทำงานกลุ่มใหญ่
• มีกิจกรรมที่ทำร่วมกันหลากหลายขึ้น
• เกิดการตัดสินใจในระดับฐานรากกระจายอำนาจออกไปจากกลุ่มใหญ่หรือคณะกรรมการเพียงชุดเดียว

ทิศทางการบริหารกองทุนในอนาคต ในอนาคตข้างหน้าหากมีการบริหารจัดการที่ดีในเรื่องของการแก้ไขปัญหาหนี้สินถ้ามีผลสำเร็จในการร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งนอกและในระบบน้อยๆ ทางกองทุนประสานงานเสนอเรื่องแก่ทางธนาคารเพื่อออกเงินกู้ให้แก่สมาชิกเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มากขึ้นต่อไปซึ่งจะเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- ทำให้สมาชิกสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ทั้งหมด
- มีการลดการสร้างหนี้

และหากสมาชิกมีการรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพ ทางกองทุนจะพิจารณาและเขียนโครงการไปยังแหล่งทุนซึ่งช่วยเหลือทั้งเรื่องการตลาด และเรื่องของเงินทุนให้กับสมาชิกต่อไป
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- เกิดการรวมกลุ่มกันเพื่อประกอบอาชีพ
- เพิ่มรายได้ให้กับสมาชิก
- ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้

สรุปข้อดีข้อเสียของการจัดตั้งกองทุนสัจจะออมทรัพย์เครือข่ายออมทรัพย์ชุมชนเมืองอรัญประเทศ
ข้อดี
1. ฝึกให้สมาชิกแต่ละระดับมีการทำงานร่วมกัน
2. มีการกระจายข่าวสารประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกองทุนหรือการพัฒนาอื่นๆ
3. สมาชิกกล้าเปิดเผยปัญหาหนี้สิน อันจะเป็นการชักนำไปสู่การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายครัวเรือนเพื่อแก้ปัญหาและคิดแบบแผนชีวิตชุมชนได้อย่างยั่งยืน
4. รู้จักให้ชาวชุมชนมีการบริหารทางการเงิน มีการฝึกการจัดการการบริหารงานร่วมกัน
5. ฝึกให้รู้จักมีการประสานงานกับหน่วยงานทางการเงินต่างๆเพื่อพัฒนาไปสู่ระดับนโยบาย
6. มีความโปร่งใสและความไว้วางใจซึ่งกันและกันมีการตรวจสอบกันเป็นทอดๆและตรวจสอบถึงกันได้ตลอดเวลา
7. ชาวชุมชนร่วมกันคิดร่วมกันทำตั้งแต่ระดับกลุ่มย่อย มีการนำเสนออย่างเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่ระดับแนวรากหญ้าถึงระดับผู้บริหาร
8. ทำให้เกิดการบูรณาการในกองทุนทำให้สถานะทางการเงินในชุมชนเข้มแข็งขึ้นมีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกระจายไปทั้งเมือง
9. เกิดความเข้มแข็งขององค์กรการเงินในระดับเมือง
10. เสริมสร้างผู้นำในระดับฐานรากขององค์กร เพื่อก้าวมาสู่การทำงาน
11. ชาวชุมชนรู้จักเป็นผู้ให้อย่างมีคุณค่า และเป็นผู้รับอย่างมีศักดิ์ศรี
ข้อเสีย และปัญหาของคนทำงาน
1. เป็นการจัดระบบใหม่เริ่มแรกจะต้องเสียเวลาไปปรับกระบวนเพื่อให้สมาชิกมีความเข้าใจที่ตรงกัน
2. หาคนเป็นแกนนำในการทำงานลำบากเนื่องจากความเข้าใจของแต่ละบุคคลไม่เท่าเทียมกัน
3. ผู้นำหวั่นไหวต่อเสียงวิจารณ์ของชาวบ้าน เมื่อนำเสนอพอมีการวิจารณ์ก็เริ่มท้อ
4. อื่นๆ

ทิศทางการทำงานและการประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นและจังหวัด1.สนับสนุนให้ชาวชุมชนมีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและพึ่งตนเองในระยะยาวให้สมาชิกพึ่งตนเองได้อย่างต่อเนื่อง
2.ประสานงานเทศบาลและ ศตจ.ปปช หรือศูนย์ประสานงาน สนับสนุนการต่อสู้ปัญหาความยากจนภาคประชาชนจังหวัดสระแก้วเพื่อคิดแผนงานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชุมชน อันเป็นผลให้เกิดแผนพัฒนาชีวิตชุมชนพึ่งตนเองภาคประชาชน
3.การบริหารการจัดการที่ดีจะมีการขยายผลให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเชื่อมโยงการพัฒนาไปสู่กิจกรรมการผลิตและการสร้างงานในชุมชนและขยายประสบการณ์ไปยังพื้นที่ข้างเคียงให้สามารถนำกองทุนมาบริหารจัดการร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายระดับเมืองและระดับจังหวัดต่อไป
4.นำเงินที่ได้จากกองทุนมาบริหารจัดการและเชื่อมร้อยกันเพื่อทำให้เกิดสถาบันทางการเงินที่เข้มแข็งในชุมชน



หลักคิดเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง
1.สมาชิกคือศูนย์กลางของกลุ่มออมทรัพย์ และกลุ่มออมทรัพย์หรือองค์กรการเงินภาคประชาชนชักนำให้เกิดกิจกรรมอื่นๆภายในชุมชน
2.การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนทำให้เกิดพลังทางความคิด พลังทางปัญญา และ พลังทางสังคมให้ชาวชุมชนมีการร่วมคิดร่วมทำร่วมวางแผนและร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
3.ให้ชาวชุมชนรู้จักบริหารการเงินด้วยความโปร่งใสและไว้ใจซึ่งกันและกัน
4.เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การพึ่งตนเอง ชาวชุมชนรู้จักประมาณ รู้จักเพียงพอ อันเป็นฐานสำคัญสูงเศรษฐกิจพอเพียง